ประวัติ ของ ดอนัลด์ รัมส์เฟลด์

รัมส์เฟลด์เกิดในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และจบการศึกษาสาขารัฐศาสตร์ใน พ.ศ. 2497 จากนั้นก็เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐเป็นเวลาสามปี เขาเข้าลงสมัครชิงตำแหน่งส.ส.จากรัฐอิลลินอยส์ และชนะเลือกตั้งในปี 2505 ในวัย 30 ปี ต่อมารัมส์เฟลด์ยอมรับคำชวนของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี ก่อนที่ต่อมาจะได้เป็นผู้แทนสหรัฐประจำนาโต้ เขาถูกเรียกตัวกลับมายังสหรัฐในเดือนสิงหาคม ปี 2517 เพื่อรับตำแหน่งเสนาธิการทำเนียบขาว ภายใต้ประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด เขาดำรงตำแหน่งนี้เพียงปีเศษก็สละตำแหน่งนี้ให้แก่ ดิก ชีนีย์ เจ้าหน้าที่รุ่นน้องของเขา เพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2518

ภายหลังประธานาธิบดีฟอร์ดแพ้การเลือกตั้งในปี 2519 รัมส์เฟลด์ก็กลับไปดูแลธุรกิจส่วนตัว ต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทเวชภัณฑ์ และต่อมาไปบริหารบริษัทเครื่องรับโทรทัศน์ และไปบริหารบริษัทเทคโนโยลีชีวภาพ ก่อนที่ในปลายปี 2543 เขาได้รับคำชวนให้มาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม จากรองประธานาธิบดี ดิก ชีนีย์ ผู้เคยเป็นรุ่นน้องของเขาในทำเนียบขาว และได้รับการรับรองและแต่งตั้งในเดือนมกราคม 2554 ในช่วงการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของประธานาธิบดีบุชนี้เอง รัมส์เฟลด์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการวางแผนและสั่งการปฏิบัติการตอบโต้กลับจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ซึ่งเป็นเหตุจุดชนวนสงครามสองครั้ง อันได้แก่ สงครามในอัฟกานิสถาน และ สงครามอิรัก

"เพนตากอนยังทำงานอยู่" เป็นคำพูดของรัมส์เฟลด์กล่าวแก่สื่อมวลชน 8 ชั่วโมงภายหลังเพนตากอนถูกเครื่องบินพุ่งชน

วินาศกรรม 11 กันยา และสงครามสืบเนื่อง

ในตอนบ่ายของวันที่ 11 กันยายน 2001 รัมส์เฟลด์ได้ออกคำสั่งด่วนให้ตรวจสอบและหาหลักฐานความเชื่อมโยงกับอิรัก เขายังแนะนำอีกว่าชาติที่สนับสนุนการก่อการร้ายอย่าง ซูดาน, ลิเบีย, อิรัก และ อิหร่าน อาจจะให้ที่หลบภัยแก่ผู้ก่อการร้ายหากสหรัฐเข้าโจมตีอัฟกานิสถาน[1] ภายหลัง รัมส์เฟลด์ยังระบุในหนังสือ Known and Unknown ว่า "คนมักเขียนว่าฝ่ายบริหารของบุชมัวแต่เพ่งเล็งไปที่อิรักหลัง 9/11 นักวิเคราะห์ข่าวก็บอกว่าการที่ประธานาธิบดีบุชและที่บรรดาที่ปรึกษาออกมาสงสัยว่าซัดดัม ฮุสเซนอาจจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีนั้นเป็นเรื่องที่แปลกและดูหมกมุ่น ผมเองก็ไม่เคยเข้าใจในประเด็นนี้ ผมไม่รู้ว่าอิรักเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว แต่มันจะกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารไร้ความรับผิดชอบถ้าไม่มีใครออกมาตอบคำถาม"[2]

ภายหลังสหรัฐประกาศสงครามในอิรัก รัมส์เฟลด์เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับฟังแผนการณ์ในอิรักของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเสนอที่จะส่งทหารราวห้าแสนนายเข้าปฏิบัติการ รัมส์เฟลด์คิดว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป และคัดค้านความคิดนี้มาตลอด เขากดกันไปยังพลเอกทอมมี่ แฟรงก์ ผบ.กองบัญชาการส่วนกลาง ให้ลดจำนวนทหารเหลือสี่แสนนาย ซึ่งพลเอกแฟรงก์ก็คัดค้านและยืนยันที่จะต้องคงทหารที่ระดับเดิม[3]